โลจิสติกส์ 4.0 กับการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0
Logistics 4.0 เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์หากมองแนวคิดของโลจิสติกส์ซึ่งถือเป็นงานบริหารจัดการความต้องการของ Demand และ Supply การพัฒนาในยุค Logistics 4.0 จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างโซ่อุปทานสั้นลง ผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น การพัฒนาประสิทธิภาพระหว่างโซ่อุปทานสูงขึ้น อย่างไรก็ตามช่องว่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่แคบลงไม่ได้หมายถึงธุรกิจหรือคนกลางที่อยู่ในสายโซ่อุปทานจะถูกตัดออกไป ยังคงมีอยู่ แต่จะอยู่รอดได้ดีเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว และความสามารถของการเพิ่มและส่งต่อคุณค่าที่มีอยู่ในวันที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ทั้งภาคการผลิตที่เปลี่ยนจาก Mass Production มาสู่ Customized Production ภาคโลจิสติกส์ต้องแข่งขันกันด้วยความสามารถในการบริหารจัดการ Demand and Supply ส่วนภาคธุรกิจการค้าต้องเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยวิถีทางการตลาดเพื่อส่งผ่านคุณค่าของสินค้าสู่ผู้บริโภค สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ผู้ประกอบการไทยพร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันในยุคนี้แล้วหรือไม่ เพราะหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับใช้แนวคิด และพัฒนาการของ Industrial 4.0 และ Logistics 4.0 และ Marketing 4.0 ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ จะก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ทั้งยังสามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งในเวทีโลกได้ แต่หากพิจารณาสถานะปัจจุบันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและย่อย (SMEs) พบว่ายังขาดความพร้อมในหลายด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวสำหรับการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เข้าสู่ Digital Process ดังนี้
- ผู้ประกอบการควรปรับแนวคิดการทำธุรกิจ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นต้นทุนทางธุรกิจ (Cost) มากกว่าเป็นมูลค่าทางธุรกิจ (Value) ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยมองว่าการเติบโตของระบบคือการเติบโตของธุรกิจ กล่าวคือการสร้างระบบการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ในระดับที่เหมาะสมเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถทางการแข่งขัน ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาว
- สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจอย่างชาญฉลาด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่เพื่อเพิ่มโอกาสและการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจ จึงต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางธุรกิจของตนสำหรับการสร้างทางเลือก การตัดสินใจ รวมถึงการจัดการกระบวนการต่างๆ ทางธุรกิจ อย่างชาญฉลาด (Intelligent data) ทั้ง Internal Process และ Business Transaction ควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว ให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ทั้งนี้ภาครัฐถือเป็นหัวจักรสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้าสู่ Digital Process ได้โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล เน้นการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อน และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิต ดังนั้น Key Success Factors ของการดำรงอยู่และการแข่งขันของธุรกิจ ไม่ได้อยู่แค่เพียงการมีเทคโนโลยีที่สูงกว่าหรือทันสมัยกว่าไว้ในครอบครอง แต่อยู่ที่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
เรียบเรียงโดย น.ส.กุลลดา ค้าสุวรรณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
ที่มา: http://www.ftilogistics.org/