เทคโนโลยี RFID ใน Industry 4.0
เทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือที่บางท่านรู้จักในชื่อของ RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกอุตสาหกรรมปัจจุบัน เนื่องจากการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการขยายตัว ทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารในปัจจุบัน ซึ่งการที่สถานประกอบการจะมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น RFID, Sensor, Embedded สำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้เห็นถึงความจำเป็นในการนำ RFID มาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงได้คิดเริ่มโครงการ “ส่งเสริมการปรับปรุงกระบวนการ
โลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” ขึ้นในปี 2558 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากสถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นอย่างดี ทำให้สำนักฯ ดำเนินโครงการต่อเนื่องในปี 2559 เพื่อให้สถานประกอบการได้เรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยี RFID ไปใช้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์ พร้อมกับรองรับกระแส Industry 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในการดำเนินโครงการนี้ ทีมงานที่ปรึกษาได้ร่วมกับตัวแทนจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 ราย ในการออกแบบระบบและนวัตกรรมใหม่โดยใช้ RFID ซึ่งสามารถสร้างระบบการระบุตัวตนของวัตถุในกระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆได้ อาทิ ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าด้วย RFID ซึ่งสถานประกอบการที่นำ RFID ไปสร้างนวัตกรรม เช่น บริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้องเซรามิค บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ฯลฯ ซึ่งผลการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้สามารถลดต้นทุนหรือเพิ่มผลิตภาพของบริษัทฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดปัญหาเรื่องของการหยิบสินค้าผิดพลาด ลดระยะเวลาในการค้นหาสินค้า พนักงานทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถควบคุมพฤติกรรมได้
ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้อง ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯ พบปัญหาในการบริหารจัดการคลังสินค้ามากมาย เช่น ข้อมูลของคลังสินค้าที่จัดเก็บไม่ถูกต้อง ตำแหน่งจัดเก็บไม่ถูกต้อง การตรวจนับสต็อกสินค้าใช้คนในการตรวจทำให้ใช้ระยะเวลา และเกิดข้อผิดพลาดสูง ซึ่งหลังจากบริษัทฯ นำ RFID เข้ามาประยุกต์ใช้งานในการบริหารจัดการคลังสินค้าทำให้สามารถลดจำนวนพนักงานสำหรับปฏิบัติงานกว่า 30% ลดจำนวนรถโฟล์คลิฟต์ที่ใช้งานในคลังสินค้าไปได้ 6 คัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 500,000 บาทต่อเดือน จากผลของการปรับปรุงดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี RFID มาประยุกต์ใช้งาน จึงมีนโยบายที่จะขยายการปรับปรุงกระบวนการเพิ่มขึ้น โดยวางแผนจะทำให้คลังสินค้าของบริษัทฯ เป็น Smart Warehouse และพัฒนาส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นระบบอัตโนมัติสำหรับรองรับ IOT ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
สำหรับบริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯได้พยายามนำเทคโนโลยี Barcode เข้ามาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟต์ เพื่อสร้างระบบการทำงานอัตโนมัติให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและถูกต้องแม่นยำ แต่บริษัทฯ ต้องพบปัญหาในเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมไปใช้งาน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ทีมงานที่ปรึกษาจึงเข้าไปแนะนำการนำเทคโนโลยี RFID เข้ามาใช้งานแทน Barcodeโดยหลังจากการประยุกต์ใช้งานแล้วบริษัทฯ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการต่างๆที่นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบของบริษัทฯ ให้เป็นรูปแบบ IOT ให้ได้ภายในปี 2020
ในอนาคตเทคโนโลยี RFID จะเข้ามามีส่วนในการสร้างระบบอัตโนมัติภายในองค์กรเป็นอย่างมาก ประกอบการกับภาวะการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้นทุกองค์กรไม่ควรนิ่งเฉยต่อการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ของตนเอง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงความต้องการ
ที่มา: ธนาพล โชคสุนทสุทธิ์
ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์
ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode
http://www.logistics.go.th/